การทำงานของบ่อเกรอะ


บ่อเกรอะ และถังบำบัดน้ำเสีย เลือกอย่างไรให้เหมาะสม

Cradit : SCG


การเลือกใช้ถังบำบัดน้ำเสียเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มักเป็นคำถามเมื่อสร้างบ้านใหม่และต้องดำเนินการติดตั้งระบบระบายน้ำเสีย ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของการติดตั้งถังบำบัดน้ำเสียนี้ก็เพื่อช่วยกรองของเสียและสิ่งปนเปื้อนที่มีอยู่ในน้ำทิ้งให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะทำการปล่อยลงสู่ระบบสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันมีถังบำบัดอยู่หลายประเภท แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไรวันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจเรื่องนี้กันนะคะ
 
ในอดีตการบำบัดน้ำเสียจากโถสุขภัณฑ์ที่เรารู้จักกันดีก็คือ ระบบบ่อเกรอะบ่อซึม ซึ่งในการสร้างบ้านใหม่สมัยก่อนนั้นจะต้องมีบ่อบำบัดน้ำเสียหรือที่เราเรียกว่า “บ่อเกรอะ” และ “บ่อซึม” เป็นการนำถังคอนกรีตสำเร็จรูปทรงกระบอก มาต่อกันและฝังไว้ในดิน จำนวน 2 บ่อ บ่อที่ 1  เรียกว่าบ่อเกรอะ (Septic Tank) ทำหน้าที่รับของเสียจากภายในบ้านโดยตรง จะกักน้ำเสียไว้ระยะหนึ่ง (ประมาณ 1-3 วัน) เพื่อให้ของแข็งที่ปะปนมากับน้ำเสียตกตะกอนลงด้านล่าง ซึ่งเป็นการแยกกากและยังเป็นการปรับสภาพน้ำเสียโดยการย่อยสลายตามธรรมชาติ ทั้งนี้ ควรทำการสูบกากของเสียและตะกอนทิ้งเพื่อทำความสะอาด ทุกๆ 3-5 ปี
 
ถัดมาส่วนที่ 2 หรือที่เราเรียกว่าบ่อซึม ( Seepage Pit ) น้ำเสียซึ่งได้แยกกากเรียบร้อยแล้วจากบ่อที่ 1 จะถูกส่งต่อมายังบ่อนี้ จากนั้นแล้วจะมีการกระจายน้ำออกไปตามดินโดยรอบ โดยผนังของบ่อซึมจะทำด้วยวัสดุพรุน (Porous Materials) หรือ ใช้ท่อคอนกรีตเจาะรูเพื่อให้น้ำค่อยๆ ซึมออกสู่ชั้นดินรอบบ่อ จึงไม่เหมาะกับบริเวณลุ่มน้ำท่วมถึง หรือที่ที่ระดับน้ำใต้ดินสูง เนื่องจากน้ำเสียจะไม่สามารถระบายออกได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาส้วมเต็มในอนาคต นอกจากนี้ ตำแหน่งที่ตั้งควรอยู่บริเวณที่ห่างไกลจากแหล่งน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค เพื่อสุขอนามัยของผู้อยู่อาศัยแถวนั้น

ต่อมาในสมัยปัจจุบัน พื้นที่ในการก่อสร้างบ้านเริ่มมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้นปัจจัยต่างๆ ที่เป็นจุดด้อยของบ่อเกรอะบ่อซึมจึงถูกเต็มเติมและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดน้ำ จึงมีการคิดค้นถังบำบัดน้ำเสียเพื่อมาทดแทนระบบบ่อเกรอะ-บ่อซึม  โดยระบบบำบัดน้ำเสียมี 2 ชนิดคือ
 
1.ระบบแยกส่วนเกรอะและส่วนกรองออกจากกัน ซึ่งชนิดนี้จะมีสองถัง เหมาะกับอาคารขนาดใหญ่ที่มีอัตราการเกิดน้ำเสียค่อนข้างสูง รวมถึงต้องใช้พื้นที่ในการติดตั้งค่อนข้างมาก ตัวอย่างถังบำบัด อาทิเช่น ถังเกรอะรุ่น COTTO Nano septic (CNS) ใช้ร่วมกับ ถังกรองชนิดไม่เติมอากาศ รุ่น COTTO Nano Filter (CNL)  หรือ ถังกรองชนิดเติมอากาศ รุ่น COTTO Nano Fixed Film(CNFF)
 
2. ชนิดที่มีการรวมส่วนเกรอะและส่วนกรองเอาไว้ในถังเดียวกัน ซึ่งนิยมใช้ในบ้านพักอาศัยโดยทั่วไป เนื่องจากประหยัดพื้นที่ติดตั้งและประหยัดค่าใช้จ่ายค่ะ อาทิเช่น ถังบำบัดแบบรวมชนิดไม่เติมอากาศ รุ่น COTTO Nano Compact  หรือ ถังบำบัดแบบรวมชนิดเติมอากาศ รุ่น COTTO Nano Septic Fixedfilm (CNSF) เป็นต้น


ถึงแม้ระบบบำบัดน้ำเสียจะถูกแบ่งออกเป็นชนิดแยกถังและชนิดรวมไว้ในถังเดียวกัน แต่จะเห็นได้ว่าถังบำบัดทุกชนิดล้วนมีกระบวนการทำงานในส่วนของถังเกรอะเหมือนกัน แต่จากแตกต่างกันที่ส่วนกรองซึ่งเจ้าของบ้านสามารถเลือกใช้ส่วนกรองได้ทั้ง 2 ประเภทคือ “ชนิดไม่เติมอากาศ” และ “ชนิดเติมอากาศ” โดยหลายท่านยังสงสัยอยู่ว่าจะเลือกส่วนกรองอย่างไรเพื่อให้เหมาะกับบ้านของเรา เราจะมาพิจารณาถึงข้อแตกต่างพร้อมๆกันนะคะ
 
ถังกรองเพื่อบำบัดน้ำเสียชนิดไม่เติมอากาศ ( Anaerobic Unit ) พัฒนามาจากระบบบ่อเกรอะ โดยทำให้เกิดการย่อยสลายเพิ่มขึ้นด้วยการเพิ่มจำนวนแบคทีเรีย โดยใช้สื่อชีวภาพ ( Bio-Media ) มาเป็นตัวกลางให้แบคทีเรียเกาะ ยิ่งมีพื้นที่ผิวมาก จำนวนแบคทีเรียก็จะยิ่งมากขึ้น ทำให้ระบบบำบัดน้ำเสียดีขึ้นเช่นกัน ส่วนกรองชนิดนี้เป็นที่นิยมสำหรับบ้านพักอาศัย เนื่องจากดูแลรักษาง่ายและประหยัดค่าไฟฟ้า แต่มีข้อเสียคือในช่วงแรกจุลินทรีย์ในส่วนกรองชนิดไม่เติมอากาศมีปริมาณน้อย จึงย่อยกากของเสียไม่ทัน ทำให้เกิดก๊าซมีกลิ่นเหม็น สามารถแก้ไขด้วยการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์เติมลงไปในถัง และดูดกากของเสียออกอย่างสม่ำเสมอ

ถังกรองเพื่อบำบัดน้ำเสียชนิดเติมอากาศ ( Aerobic Unit ) โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ระบบ ได้แก่
 
1. ระบบ Activated Sludge หรือระบบตะกอนเร่ง อาศัยการย่อยสลายของเสียโดยแบคทีเรียชนิดใช้อากาศ (Aerobic Bacteria) โดยเติมอากาศที่ Aeration Chamber และนำเอาตะกอนซึ่งมีแบคทีเรียที่ยังสามารถย่อยสลายของเสียได้ จากส่วนตกตะกอนกลับมาใช้ใหม่
 
2. ระบบ Contact Aeration Process หลักการของระบบนี้จะอาศัยแบคทีเรียชนิดใช้อากาศ ( Aerobic Bacteria) และเพิ่มจำนวนแบคทีเรียด้วยการมีสื่อชีวภาพให้แบคทีเรียเกาะ นอกจากนี้ยังมีการนำตะกอน (Sludge) จากส่วนตกตะกอนมาใช้ใหม่ เพื่อนำแบคทีเรียที่ยังสามารถย่อยสลายของเสียกลับมาใช้ใหม่อีกด้วย
 
ประสิทธิภาพของระบบเติมอากาศ (Aerobic Unit) นี้จะดีกว่าระบบไม่เติมอากาศ (Anaerobic Unit) ค่ะ เนื่องจากสามารถลดค่า BOD* ได้มากกว่า แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนของค่าไฟฟ้าสำหรับระบบเติมอากาศและค่าบำรุงรักษาในระยะยาว จึงเหมาะกับอาคารที่ต้องการน้ำทิ้งที่มีมาตรฐานสูง
 
นอกจากนี้ในการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียควรติดตั้งท่ออากาศขนาด 1 นิ้วบริเวณด้านบนของถังบำบัดน้ำเสียด้วยเพื่อช่วยในการระบายความดันให้อยู่ในสภาวะสมดุลซึ่งหากเกิดความดันภายในถังมากไปจะส่งผลให้ชักโครกไม่ลงได้ค่ะ
 

 
*ค่า BOD (Biochemical Oxygen Demand, BOD) หมายถึง ปริมาณของออกซิเจนที่แบคทีเรียใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ ในเวลา 5 วัน ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส มีหน่วยเป็น มิลลิกรัม/ลิตร ค่า BOD เป็นค่าที่มีความสำคัญอย่างมากในการออกแบบและควบคุมระบบบำบัดน้ำเสียทางชีวภาพ โดยใช้บ่งบอกถึงค่าภาระอินทรีย์ (Organic Loading) ใช้ในการหาประสิทธิภาพของระบบบำบัดน้ำเสีย และใช้สำหรับการตรวจสอบคุณภาพของน้ำตามแหล่งน้ำต่างๆ  ถ้า BOD ต่ำหมายถึงน้ำที่มีคุณภาพดีเพราะจุลินทรีย์ต้องการออกซิเจนน้อยในการย่อยอินทรีย์ แต่ถ้าค่า BOD สูงคือน้ำที่มีคุณภาพต่ำหรือน้ำเสียนั้นเอง



Visitors: 269,572